
เพื่อนๆหลายคนอาจจะมีความคิดอยากเริ่มทำธุรกิจบางอย่าง หรือมีไอเดียบางอย่างที่คิดว่าน่าจะเอามาเปิดเป็นธุรกิจสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ แต่บางทีอาจจะยังไม่กล้าที่จะลุย หรือว่าอาจจะยังลังเลว่าเอ๊ะ ถ้าทำแล้วมันจะดีมั้ยนะ หรือมันจะรอดมั้ยนะ ซึ่งในทางปฏิบัติเรามีหลายหลายวิธี และหลากหลายเครื่องมือที่จะเอามาช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้น วันนี้ผมมีเครื่องมือตัวนึงที่นักธุรกิจหลายๆคนใช้เป็นตัวช่วยชี้วัดระดับนึงว่า industry (วงการ)นี้ เราน่าจะ “Go” or “No go” ครับ เครื่องมือชี้วัดตัวนี้เราเรียกว่า Porter’s 5 Forces analysis ครับ ซึ่งคนที่คิดขึ้นมาคือ Prof. Michael Porter นั่นเองครับ ถือว่าเป็นเครื่องมือที่วิเคราะห์ภาพรวมของ industry ได้ดีพอสมควรเลย ดังนั้นนักเรียนการตลาดหรือนักเรียนธุรกิจทุกคนจะต้องเคยผ่านเครื่องมือนี้มาอย่างแน่นอนครับ ใน 5 Forces analysis เราจะวิเคราะห์กันทั้งหมด 5 มุมมองด้วยกันครับ เพื่อให้เราเห็นภาพว่าเราน่าจะเข้าไปในวงการนั้นๆหรือไม่ครับ วันนี้ผมจะมาเล่าแบบย่อๆให้ฟังกันครับว่าเค้าแนะนำให้เราดูจากอะไรกันบ้างครับ เรามาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ

Threat of new entry
คือความเสี่ยงที่เราจะถูกบุกรุกจากเจ้าใหม่ๆแบรนด์ใหม่ๆบริษัทใหม่ๆที่จะเข้ามาในตลาดนั้นๆครับ บางธุรกิจก็เข้าง่าย บางธุรกิจก็เข้ายากครับ เช่น ถ้าเราอยากจะเปิดร้านอาหารซักร้าน ในชุมชนแถวบ้าน เราก็อาจจะต้องวิเคราะห์ว่า แถวนี้หาห้องแถวทำร้านได้ง่ายมั้ย, สูตรอาหารที่เราจะทำมันแตกต่างยากกว่าปกติมั้ย หรือใครๆก็หาสูตรได้ทั่วไป, เงินทุนที่ต้องใช้เยอะน้อยแค่ไหน,ต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวมากน้อยแค่ไหนครับ ซึ่งถ้ามองแบบเผินๆสำหรับ Threat of new entry ของธุรกิจร้านอาหารทั่วไป จะถือว่าค่อนข้างสูงครับ คือคนอื่นบุกรุกเข้ามาสู้กับเราได้ง่ายครับ ถ้าคนอื่นเข้ามาบุกเราง่าย ข้อนี้ก็จะไม่ค่อยดีครับ แต่ถ้าวิเคราะห์แล้วพบกว่าคนจะเข้ามาไม่ใช่ง่ายๆนะ ก็จะถือว่าเป็นข้อดีที่ทำให้น่าทำธุรกิจนี้มากขึ้นครับ

Supplier Power
คือ power ของเราต่อผู้ที่ผลิตของให้เรา หรือผู้ที่ส่งของให้เรา มีมากน้อยแค่ไหนครับ ตัวอย่างเช่น มีผู้ผลิตของที่เราจะนำมาขายเยอะมั้ย ถ้ามีน้อยเราก็อาจจะต้องพึ่งพาอาศัยเค้า อำนาจการต่อรองของเราก็ต่ำลงครับ แต่ถ้ามีเยอะ เราก็มีอำนาจการต่อรองมากขึ้น เราก็ไม่ตกเป็นเบี้ยล่างจนเกินไปครับ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยากทำร้านเสื้อผ้า แต่เราไม่มีโรงงานของตัวเอง เราก็ต้องดูว่ามีโรงงานที่รับตัดเย็บเสื้อผ้าให้เรามากน้อยแค่ไหน ถ้ามีแค่เจ้าเดียวสองเจ้า แปลว่าถ้าวันไหนเค้าไม่ผลิตให้เรา เราก็ตายเลยครับ แต่ถ้ามีหลายๆเจ้ารับเย็บเสื้อผ้าแบบที่เราต้องการได้ เราก็ถือว่าข้อนี้ผ่านได้ดีครับ ถ้าเรามีอำนาจต่อรองมาก ข้อนี้ก็จะนับว่าดีครับ แต่ถ้าเรามีอำนาจต่อรองน้อย ข้อนี้จะกลายเป็นข้อความเสี่ยงของเราอีกข้อครับ

Buyer Power
ข้อเมื่อกี้เราพูดถึงอำนาจการต่อรองของเราต่อผู้ผลิต ข้อนี้คืออำนาจการต่อรองของเราต่อผู้ซื้อครับ สมมติเราคิดจะเป็นธุรกิจขายอะไหล่ชนิดนึงที่ทั้งประเทศมีโรงงานที่ต้องการใช้แค่โรงงานเดียว แปลว่าถ้าเค้าไม่ซื้อเรา เราก็ขายไม่ได้เลย อันนี้แปลว่า อำนาจการต่อรองต่อผู้ซื้อเราไม่ดีละครับ แต่ถ้าเราจะขายของซักอย่างนึงที่ใครๆก็ซื้อได้ แปลว่าอำนาจการต่อรองของลูกค้าแต่ละคนลดลงแล้วครับ อันนี้ก็จะได้คะแนนข้อนี้ไปครับ

Threat of substitution
ความเสี่ยงที่จะเจอของที่มาทดแทนได้ ข้อนี้หมายถึงของที่อาจจะไม่ได้เหมือนเราไม่ได้แข่งกับเราซะทีเดียว แต่ทดแทนกันได้ครับ เช่น ถ้าเราขายโค้ก ของที่เป็นคู่แข่งเราจริงๆคือเป๊ปซี่ แต่ของที่มาทดแทนได้มีอีกมากมายเช่น ชาเขียวขวด, น้ำผลไม้กล่อง, เครื่องดื่มๆอื่นๆอีกมากมายในร้านสะดวกซื้อครับ ถ้าเราจะเปิดธุรกิจใหม่ซักอัน เราก็อาจจะต้องคิดเผื่อตรงนี้ด้วย เพราะบางทีเรามีไอเดียที่ดีเลย ยังไม่มีคนทำแต่มีของที่มาทดแทนที่ทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องเลือกของเราก็ได้อีกหลายอย่างเลย อันนี้ก็จะมีความเสี่ยงสูงเหมือนกันครับ แต่ถ้าไม่มีไรมาทดแทนกันได้เลย ก็จะได้คะแนนบวกข้อนี้ไปครับ

Competitive Rivalry
ข้อสุดท้ายก็คือ ในตลาดนั้นๆมีการแข่งขันอยู่แค่ไหนแล้วครับ ถ้ามันแข่งขันกันมากเหลือเกินแล้ว เราก็คงไม่น่าจะลงไปสู้ นอกเสียจากว่าเรามีอะไรที่เจ๋งกว่าเค้า ที่คิดว่าเราจะแซงเจ้าเดิมที่อยู่มาก่อนได้จริงมั้ยครับ แต่ถ้าโหเป็นตลาดใหม่ ยังไม่มีใครจับ ไม่มีใครสนใจเลย ไม่มีคู่แข่งเลยหรือมีน้อยมากๆ งั้นเราก็จะได้คะแนนบวกข้อนี้ไปและเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะลงทุนทำธุรกิจนี้หละครับ
เช่นถ้าเราอยากจะเปิดร้านกาแฟที่หน้าบ้าน แต่สี่แยกหน้าบ้านเรามีร้านกาแฟขายอยู่แล้ว 20ร้าน เราก็อาจจะต้องคิดใหม่หละครับ ไม่งั้นก็สู้กันจนตายเพราะ demand มีจำกัดอยู่อะครับ แต่ถ้าเราอยากเปิดร้านอาหารหน้าบ้าน แล้วแถวนี้มีคนเดินไปเดินมาเยอะมาก แต่ไม่มีร้านอาหารเลย ก็อาจจะเป็นไอเดียที่น่าสนใจมากขึ้นครับ
ก่อนจบอยากจะฝาก tips ไว้นิดนึงครับ เวลาเราทำ 5 forces analysis หรือ analysis อื่นๆเราต้องทำใจเป็นกลางๆนะครับ ห้ามคิดเข้าข้างตัวเองนะครับ เพราะเราใช้เครื่องมือพวกนี้เพื่อประกอบการตัดสินใจให้ถูกต้องแม่นยำขึ้นเท่านั้นครับ สุดท้ายแล้วผลออกมายังไง เราจะตัดสินใจไปทางไหน ก็เป็นสิทธิของเราครับ 5555
คราวนี้เราวิเคราะห์ industry กันไปแล้ว ไว้ครั้งหน้าผมจะมาแชร์เครื่องมืออื่นๆเพิ่มเติมอีกน้าคร้าบ