
หลายคนอาจจะเคยเจอปัญหากับการตั้งราคาสินค้าอย่างเหมาะสมและถูกต้อง วันนี้แบรนด์บัดดี้มีเทคนิคการตั้งราคาสินค้าแบบง่ายๆ ให้ดึงดูดและโดนใจลูกค้ามาฝากกัน
ป.ล.ตอนใช้จริงสามารถยำเทคนิครวมกันได้น้าคร้าบบบ 😃😃

เทคนิคแรก : Skimming
ถ้าสินค้า/บริการของเรา เป็นสินค้าที่มีความ Unique สูง ไม่เคยมีมาก่อน และไม่มีคู่แข่ง รวมไปถึงเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูง เราสามารถใช้เทคนิคนี้ได้ครับ โดยเราจะตั้งราคาตอนแรกให้สูง แล้วเมื่อเวลาผ่านไปและมีสินค้าแนวๆเดียวกันออกมามากขึ้น เราจะค่อยๆลดราคาลง กลุ่มสินค้าหลักๆที่ใช้เทคนิคนี้ เช่น สินค้าเทคโนโลยี หรือ บริการด้านการออกกำลังกายแนวใหม่ เป็นต้นครับ

เทคนิคที่ 2 : Penetration
เทคนิคนี้ตรงข้ามกับเทคนิคแรก โดยเราจะเริ่มจากการตั้งราคาที่ต่ำกว่าตลาดไว้ก่อน แล้วจึงขึ้นราคาเมื่อเวลาผ่านไป เทคนิคนี้เหมาะกับสินค้าหรือบริการที่เราอยากให้คนได้มีโอกาสทดลองใช้ เทคนิคนี้มักจะใช้เมื่อต้องการแย่งฐานลูกค้าจากเจ้าเดิมหรือต้องการเพิ่มฐานลูกค้าใหม่จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว (market share) ข้อฝากไว้ให้คิด ถ้าจะใช้เทคนิคนี้ต้องมั่นใจว่าสินค้าของเราดีจริงนะครับ เพราะถ้าลูกค้ามาด้วยราคาแล้วสินค้าของเราไม่ดีจริง ลูกค้าก็จะจากเราไปด้วยราคาเช่นเดียวกันครับ

เทคนิคที่ 3 : การตั้งราคาเพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบ
ตัวอย่างเช่น เวลาเราเห็นเมนูในร้านสเต็ก เช่น U.S. Wagyu steak ราคา 5,000บาท, wild caught Salmon steak ราคา 2,000บาท, และเมนูอกไก่ย่าง ราคา 690 บาท เราจะรู้สึกเลยทันทีว่า อกไก่ถูกมาก เพราะในสมองเราจะเอาไปราคาไปเทียบกับสเต็กเนื้อ, ปลาแซลม่อนและอาหารอื่นๆในเมนู แต่ในความเป็นจริงแล้ว อกไก่CPย่าง ราคา 690 บาท ถือว่าแพงมาก เมื่อเทียบกับต้นทุนจริงๆ ที่หาซื้อได้ทั่วไปในราคา ไม่กี่สิบบาท ดังนั้นการตั้งราคาแบบเปรียบเทียบ เราอาจจะทิ้งท้ายสินค้าที่เราต้นทุนถูกมากๆในราคาที่แตกต่างจากสินค้าอื่นๆ พอสมควรได้ เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้นและเราได้กำไรมากขึ้นอีกด้วย

เทคนิคที่ 4 : การตั้งราคาแบบ One Price for All
การตั้งราคาแบบนี้ เราจะเห็นได้ในหลากหลายร้าน ได้แก่ ร้านDaiso หรือร้านโอเค 20 โดยสินค้าทุกอย่างในร้านจะเป็นราคาเดียวกันทั้งหมด เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าสนใจมาใช้บริการและรู้สึกคุ้มค่า แต่ในร้านทั่วๆไป ก็สามารถนำเทคนิคนี้มาใช้ได้เช่นกัน เช่น การจัดเมนูโปรโมชั่นพิเศษ โดยเราจะตั้งราคาในเมนูนั้นๆเป็นราคาเดียวกันทั้งหมด ทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์แบบเดียวกันกับ daiso ที่มีของให้เลือกมากมาย แต่ขายในราคาเดียว

เทคนิคที่ 5 : Psychology Pricing
การตั้งราคาด้วยหลักจิตวิทยา โดยเลข 8 และ 9 จะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าสินค้าของเราถูกลงมากกว่าความเป็นจริง เช่น ราคา 99บาท, 990บาท, และ 2,490บาท เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าของเราได้ง่ายขึ้น แต่อย่าลืมนะครับว่า ลูกค้าอาจจะไม่ได้เลือกซื้อสินค้าที่ถูกกว่าเสมอไป ดังนั้นเราควรจะต้องตั้งราคาให้เหมาะสมกับคุณภาพของสินค้าและกลุ่มลูกค้าของเราด้วยครับ

เทคนิคที่ 6 : Premium Pricing
เทคนิคนี้เป็นการตั้งราคาให้สินค้าของเราสูงกว่าหรือแพงกว่าสินค้าชนิดเดียวกัน เพื่อให้คน perceive ว่าสินค้าของเราดีกว่า premium กว่าสินค้าอื่นๆที่มีในตลาด ซึ่งถ้าสินค้าดี มีคุณภาพ เมื่อลูกค้าได้ลองใช้แล้ว ก็จะอยากใช้ของเราต่อ และไม่ต้องกลัวคนอื่นมาตัดราคาอีกด้วย เนื่องจากลูกค้าที่เลือกใช้ เป็นกลุ่มที่ไม่ได้ price sensitive อยู่แล้วครับ ข้อคิดฝากไว้ ถ้าเราจะตั้งราคาแบบ Premium Pricing อย่าลืมว่า คุณภาพสินค้า, Packaging, Marketing Communication, Media & PR, และ Sales รวมไปถึงทุกอย่างที่เหลือจะต้องไปในทิศทางเดียวกัน ไม่อย่างงั้นลูกค้าจะไม่รู้สึกว่า premium แต่จะกลายเป็นแบรนด์นี้ขายของเกินราคาแทนไปซะงั้นนะครับ

เทคนิคสุดท้าย : การตั้งราคาแบบลดราคาตลอดเวลา
เราอาจจะเห็นหลายๆร้านที่ชอบตั้งราคาขายไว้ที่ราคาต่ำกว่าราคาเต็มอยู่เสมอ เรียกได้ว่า ไม่เคยขายที่ราคาเต็มเลยก็ว่าได้ เทคนิคนี้ก็สามารถใช้ได้ครับ แต่ส่วนตัวผมไม่แนะนำ เพราะเป็นการแสดงความไม่จริงใจกับลูกค้า เราอาจจะได้ลูกค้าระยะสั้น เพราะลูกค้าเห็นลด จึงอยากซื้อ แต่ในระยะยาวแล้ว ไม่เป็นผลดีกับแบรนด์หรือธุรกิจของเรานะครับ

ถ้าเราเลือกได้แล้วว่าเราอยากจะใช้เทคนิคหรือกลยุทธ์ไหนในการตั้งราคา ไว้โพสหน้าเดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติม เกี่ยวกับการกำหนดราคาเท่าไหร่ดี โดยใช้โมเดลการตั้งราคาแบบง่ายๆ
ไม่ยากอย่างที่คิดคร้าบบบ